การเสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส

14 พ.ค. 2567
2

การเสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส
เพื่อความร่วมมือระหว่าง
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กับองค์การอนามัยโลก
ในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้แนวคิดหลักสุขภาพหนึ่งเดียว
(One Health Concept)

          ด้วยพระนโยบายที่เข้มแข็งของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงนำสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ดำเนินงานเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและผลิตบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาที่ขาดแคลนอย่างเร่งด่วน โดยทรงให้ความสำคัญของการจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ ทั้งด้านงานอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยา และการประเมินความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี ซึ่งสถาบันฯ ได้ดำเนินการตามพระนโยบายมาอย่างยาวนาน ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

          โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำนานาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการเสด็จไปทรงเข้าร่วมประชุมและติดตามแนวทางความร่วมมือด้านพิษวิทยาและอนามัยสิ่งแวดล้อมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) อยู่เสมอ ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานวิจัยและวิชาการตามพระนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2548 องค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็น “ศูนย์ความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ด้านบุคลากร และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา” (WHO Collaborating Centre for Capacity Building and Research in Environmental Health Science and Toxicology) ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ “ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยานานาชาติ (International Center for Environmental Health and Toxicology – ICEHT) พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ eDLT (electronic Distance Learning Tool) ด้านการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้การสนับสนุนทุนอบรมแก่นักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการ ทั้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค

          สำหรับการเสด็จเยือนสำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทรงเข้าร่วมประชุมเพื่อทรงหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ ในการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (THE CHALLENGES OF ONE HEALTH:THE ROLES OF BIOSCIENCES AND CHEMISTRY) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร เพื่อถวายเป็นราชสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา (28 กรกฎาคม 2567) โดยเป็นการประชุมระดับนานาชาติที่สนับสนุนการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าผลงานวิจัย-วิชาการตามแนวคิดหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ระหว่างนักวิชาการด้านสาธารณสุข การแพทย์ สัตวแพทย์ และวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือยังระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          โอกาสนี้ ทรงหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านพิษวิทยาและอนามัยสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ ด้วยทรงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน ที่จะได้รับความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังทรงหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และมีพระดำรัสถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานรอบด้านของประเทศไทย ทั้งด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รวมถึงการบริหารจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” ที่มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องตามแนวคิดหลักของสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ขององค์การอนามัยโลก อันเป็นแนวทางปฏิบัติผ่านการเชื่อมโยงสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีโดยองค์รวม

          ในที่ประชุม องค์การอนามัยโลกได้ถวายพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ให้ทรงเป็น WHO Champion” หรือ ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการเป็นองค์ผู้นำในความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีประสิทธิภาพ อันแสดงถึงการยอมรับในระดับสากลถึงการเป็นองค์ผู้นำที่มีพระปณิธานอันมุ่งมั่น ตลอดจนสะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาประเทศ จากการที่ทรงวางรากฐานในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน และควบคุมการเกิดโรคระบาดของประชากรสัตว์ทั้งหลาย สู่ความสำเร็จในการนำแนวทางด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนชาวไทย และต่อมวลมนุษยชาติ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
14 พฤษภาคม 2567

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด