การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน

21 มิ.ย. 2567
3

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6-18 พฤษภาคม 2567

          ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงให้ความสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยกับนานาประเทศที่มีสถาบันชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับโลก เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และการพัฒนางานวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนายาที่ได้มาตรฐานสากลให้แก่ประเทศ

          เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสานต่อความร่วมมือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย  ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางศิลปวัฒนธรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตามคำกราบทูลเชิญของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

          โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ Mr. Sun Yeli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีนเฝ้ากราบทูลถึงความร่วมมือเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในพุทธศักราช 2568

 

          สำหรับการเสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจทางวิชาการในครั้งนี้ มีสถาบันชั้นนำหลายแห่ง จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ต่างพร้อมถวายความร่วมมือในทุกวิถีทางเพื่อสนองพระปณิธาน ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน

กรุงปักกิ่ง
สถาบันวิจัยจุลชีววิทยา (Institute of Microbiology)

          สำหรับการเสด็จ ณ สถาบันวิจัยจุลชีววิทยา นับเป็นแห่งแรกของการเสด็จเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่น และประสบความสำเร็จ อาทิ การพัฒนาวัคซีนชนิดต่าง ๆ ยาชีววัตถุเพื่อการป้องกันและรักษาโรคโควิค 19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของไวรัสหลายสายพันธุ์เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้การนำขององค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ ในมาตรฐานการผลิตยาชีววัตถุซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับสากลพร้อมให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะนักวิจัยที่เป็นกำลังสำคัญในการคิดค้นพัฒนายาเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ

          สถาบันวิจัยจุลชีววิทยา เป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ดำเนินงานศึกษาทางด้านจุลชีววิทยาและระบบภูมิคุ้มกัน เริ่มตั้งแต่การวิจัยพื้นฐาน ไปสู่การต่อยอดเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส ในแง่ของการก่อโรคและการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ เมื่อวิจัยและพัฒนาจนประสบความสำเร็จแล้ว สามารถขยายขนาดการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ภาคอุตสาหกรรมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาแห่งชาติจีน (National Medical Products Administration: NMPA)

          ด้วยภารกิจและบทบาทหน้าที่ของสำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาแห่งชาติจีน ในการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ยาเคมี วัคซีน ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และยาแพทย์แผนจีน     ทั้งด้านการส่งเสริมยาคุณภาพดีเข้าสู่ตลาด การกำหนดและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานวิธีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การใช้ Big Data เพื่อควบคุมประสิทธิภาพความปลอดภัยของยาสู่ประชาชน ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาระหว่างประเทศ

          ซึ่งการเสด็จไปทอดพระเนตรการดำเนินงานสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หน่วยงานภายใต้พระดำริ   ในการเพิ่มศักยภาพและความเข้าใจถึงกระบวนการ วิธีการดำเนินงานด้านการพัฒนาและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยา ตลอดจนการสร้างแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลยาในหน่วยงานภาครัฐของประเทศ เพื่อผลักดันเวชภัณฑ์ และเพิ่มการเข้าถึงที่มีคุณภาพสู่ประชาชน พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

          จากพระวิสัยทัศน์ ที่ทรงให้ความสำคัญถึงการรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยที่ดี แก่ประชาชนรวมถึงสัตว์เลี้ยงและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ภายใต้หลักการของแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ที่คนและสัตว์สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย  ซึ่งการให้ความสำคัญต่อสุขภาพของสัตว์ ย่อมถือเป็นการศึกษาถึงแนวทางเพื่อการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพของคนควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

          ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจาณาเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมประชากรสุนัขและแมวจรจัดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีวัคซีน เวชภัณฑ์ในสัตว์ที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการควบคุมป้องกันโรค ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2573 สนองพระปณิธานฯ ที่ทรงมุ่งหวังไว้ตามโครงการ “สัตว์ปลอดโรค  คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า”

เมืองชิงต่าว

บริษัท เย่ไบโอ ไบโอเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (YEBIO BIOENGINEERING CO., LTD OF QINGDAO)

          สำหรับการเสด็จ ณ บริษัท เย่ไบโอ ไบโอเอ็น จิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการผลิตยา วัคซีน   และเวชภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ ที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทรงนำทีมสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าศึกษาการดำเนินงาน ในขั้นตอนกระบวนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตวัคซีน และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ รวมถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ในประเทศไทย ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพิจารณาถึงแนวทางให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องวัคซีนและเวชภัณฑ์ในสัตว์ได้อย่างเพียงพอต่อการควบคุม และขจัดโรคพิษสุนัขบ้ารวมถึงโรคในสัตว์อื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อคนและสัตว์ ให้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

นครเซี่ยงไฮ้

บริษัท อู๋ซี ไบโอโลจิกส์ (Wuxi Biologics)

          ในการเสด็จไปทอดพระเนตรการดำเนินงานบริษัท อู๋ซี ไบโอโลจิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติที่มีศักยภาพด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตยาชีววัตถุแบบครบวงจร ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัย  ใช้สนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ เพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทยาข้ามชาติจึงมีความเชี่ยวชาญในมาตรฐานสำหรับการขึ้นทะเบียนยาของทั่วโลก

          ด้วยนโยบายและทิศทางการดำเนินงานดังกล่าว จึงทรงมีความสนพระทัยถึงศักยภาพของบริษัทฯ ที่สามารถนำมาช่วยสนับสนุนและเสริมศักยภาพให้กับศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI’s Center for Biologics  Research and Delvelopment-CBRD) ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุ

สถาบันวิจัยยาเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute of Materia Medica)

          สำหรับการเสด็จทรงงานทางวิชาการ ณ สถาบันวิจัยยาเซี่ยงไฮ้  ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยยาชั้นนำระดับโลก สังกัดภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 จากการสานต่อความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง นับจากที่เสด็จมาทรงลงพระนามและลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะองค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งแรกเมื่อปี 2546  และต่อมาในปี 2557 เสด็จมาพระราชทานบรรยายงานวิจัยด้านสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ถือเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นแรงบันดาลใจแก่คณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยยาเซี่ยงไฮ้ อย่างหาที่สุดมิได้

          การเสด็จเพื่อแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทและสถาบันชั้นนำด้านการพัฒนายาในครั้งนี้ ทรงนำคณะนักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์เข้าร่วมศึกษาดูงานพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และศึกษาถึงการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่จะเสริมศักยภาพและสร้างองค์ความรู้แก่นักวิจัยไทย เพื่อผลักดันงานวิจัยไปสู่ความสำเร็จตามพระปณิธานฯ ในการสร้างความมั่นคงทางยาผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

          ผลจากการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังกล่าว ถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จพร้อมบรรลุผลตามพระประสงค์ในการแสวงหาความร่วมมือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และบุคลากรด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการผลิตและพัฒนาวัคซีน สำหรับป้องกันและควบคุมโรคของทั้งคนและสัตว์ ครอบคลุมไปถึงแนวทางการสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

          ทั้งหลายทั้งปวงนี้…เป็นสิ่งยืนยันถึงพระปณิธานที่ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นถึงการสร้างความมั่นคงทางยาเพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน พร้อมการกระชับมิตรภาพความเข้าใจอันดีของทั้งสองประเทศที่มีมากว่า 49 ปี ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
20 มิถุนายน 2567

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด