โครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

16 ก.ค. 2567
8

          เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายชลิต มานิตยกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชนภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า อันเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ จึงต้องบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายของโครงการฯ คือ ไม่มีคนและสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน

          กิจกรรมที่สำคัญของการจัดฝึกอบรมฯ ประกอบด้วย การบรรยายทางวิชาการ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการใช้ Application เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสู่โรงเรียนและชุมชน การสาธิตวิธีการป้องกันการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกกัด ตลอดจนการเรียนรู้ถึงระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยมี เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ครูผู้สอนด้านสุขศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้แทนชุมชน เข้าร่วมอบรมประมาณ 160 คน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาพสัตว์ สุขภาพคน และการจัดการปัญหาสุนัขในชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังก่อให้เกิดการสร้างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชนในอนาคต

         จังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นพื้นที่เป้าหมายของการดำเนินโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการ และได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงมีการจัดการฝึกอบรมให้กับอาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ ตามโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ” อย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและตระหนักถึงพิษภัยของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีข้อมูลประชากรสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 90,121 ตัว ได้ดำเนินการผ่าตัดทำหมัน จำนวน 1,000 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้ว จำนวน 2,250 ตัว นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักพิงสุนัข จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สามารถรองรับและดูแลสุนัขจรจัดในพื้นที่อย่างเป็นระบบ อีก 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรีและอำเภออู่ทอง

          นับเป็นการเพิ่มศักยภาพพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการจัดการแก้ปัญหาสุนัขในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และรู้จักวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง เพื่อให้พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นเขตปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืนตามพระปณิธานฯ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
16 กรกฎาคม 256

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด