การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
(The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress)
หัวข้อ ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี
ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567
ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร
ด้วยพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลก เพื่อที่จะสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จึงมีพระดำริให้จัด “การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (The Princess Chulabhorn International Science Congress)” ขึ้น ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการทางวิทยาศาสตร์นานาชาติ ทุก 3-5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2530 เป็นต้นมา
ในปีพุทธศักราช 2567 องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีพระดำริให้จัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress) ภายใต้หัวข้อ
“ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา
วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 และเพื่อเป็นเวทีการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ ที่จะเน้นถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี กับการแก้ปัญหาความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว ตามแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”
(One Health) โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ซึ่งเป็นแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ ที่ได้รวมแนวทางปฏิบัติทั้งด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
งานประชุมฯ ครั้งนี้ มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติตอบรับเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 50 คน โดยมี
Sir Gregory P. Winter นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2561 จากสหราชอาณาจักร มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ การนำวิวัฒนาการมาใช้สร้างสรรค์ยาใหม่ (Harnessing Evolution to Make New Medicines)
จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมนำเสนอผลงานวิจัยโดยส่งบทคัดย่อ (Abstract) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และลงทะเบียนเข้าร่วมงานประชุม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://pc9.cri.or.th หรือ โทรศัพท์ 0-2553-8535 อีเมล [email protected]
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
17 กันยายน 2567