พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
(The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress)
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
วันที่ 15 ธันวาคม 2567 เวลา 17.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress) ภายใต้หัวข้อ ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงานฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องแกรนด์บอลรูม พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ องค์ประธานสถาบันวิจัย
จุฬาภรณ์ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ พร้อมทั้งกราบบังคมทูลทอดพระเนตรวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ความว่า “…ข้าพเจ้ามีความชื่นชมที่การประชุมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญระดับโลก การที่ประเทศต่าง ๆ จะบรรลุเป้าหมายตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวได้นั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้เกี่ยวข้อง ทุกคน ทุกฝ่าย และต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้านประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี อันเป็นพื้นฐานของความรู้ทางการแพทย์ สัตวแพทย์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากประเทศไทยและนานาประเทศ ได้มาร่วมปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัย การเผยแพร่ข้อมูล การผสานความรู้ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ทำให้หวังได้ว่า การประชุมครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ บนพื้นฐานของความเป็นหนึ่งเดียวกัน อันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง…”
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Princess Chulabhorn International Science Congress) เป็นการประชุมวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 4-5 ปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นราชสักการะเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ในปี พ.ศ. 2567 องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีพระดำริให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress) ภายใต้หัวข้อ ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นเวทีการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ โดยเน้นถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี กับการแก้ปัญหาด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) โดยเฉพาะความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานวิจัยส่วนหนึ่งตามพระนโยบายขององค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้สอดคล้องกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ดังผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัย และวิชาการในหลายโครงการ
การประชุมครั้งนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากนานาประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US.FDA) เข้าร่วมการบรรยาย จำนวน 59 คน จาก 16 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 750 คน จาก 30 ประเทศ ที่ให้ความสนใจในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์จากการศึกษาวิจัยร่วมกัน ในรูปแบบของการปาฐกถาพิเศษ (Keynote Lecture) การบรรยายพิเศษ (Plenary Sessions) การสัมมนากลุ่ม (Symposium) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และการประชุมแบบอภิปรายโต๊ะกลม (Roundtable Discussion) ซึ่งครอบคลุมถึงรายละเอียดในหัวข้อ สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และที่สำคัญ คือ มีการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบของการบรรยาย และโปสเตอร์ โดยนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย จำนวน 175 คน ทั้งจากในและต่างประเทศ
นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลก ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
16 ธันวาคม 2567