องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9

17 ธ.ค. 2567
2

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษ
ในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9

(The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress)

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 เวลา 08.50 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “From Environmental Exposures to Disease Manifestation : The Lasting Impacts of Arsenic (การได้รับสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมสู่การเกิดโรค : ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวจากการได้รับสัมผัสสารหนู)” พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งวันนี้ เป็นวันที่ 2 ของการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีพระดำริให้จัดขึ้นเป็นประจำทุก 4-5 ปี นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา โดยในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567  และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าของการวิจัยในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากนานาประเทศ โดยเนื้อหาหลักสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของโรคติดต่อจากคนสู่คน และจากสัตว์สู่คน เช่น โรคติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย โรคทางพันธุกรรม ฯลฯ การใช้เทคโนโลยีและพัฒนาการของการค้นคว้าวิจัยและพัฒนายาด้วยแนวทางที่ทันสมัย ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน ปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ รวมถึงภัยของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ เป็นต้น

โอกาสนี้ ทรงบรรยายถึงผลการศึกษาวิจัยด้านมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารเคมีในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย หากได้รับสัมผัสติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างการได้รับสัมผัสจากสารหนู (Arsenic) ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับสารหนูจะทำให้อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งการศึกษางานวิจัยและติดตามผลกระทบของการได้รับสารหนู (Arsenic) ต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เนื่องจากสารหนูเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อม จัดเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากทั่วโลก  การสัมผัสสารหนูอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะตั้งแต่ในครรภ์ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของทารก และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น การติดตามประชากรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในระยะแรกและแนวทางการยับยั้งการเกิดโรคตั้งแต่เริ่มพบ ผลการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการวิจัยและการติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความรู้

ความเข้าใจถึงผลกระทบทั้งหมดของการสัมผัสสารหนูและแนวทางการยับยั้งที่มีประสิทธิภาพต่อไป

จากนั้น ทอดพระเนตรวีดิทัศน์คำกล่าวพิเศษ จาก ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ที่ได้ร่วมแสดงความยินดีกับการจัดงานประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนา สุขอนามัยที่ดีอย่างยั่งยืน อีกทั้ง มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากนานาประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอาหารและยา

 

แห่งสหรัฐอเมริกา (US.FDA) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute-NCI, USA) เข้าร่วมบรรยายจำนวนกว่า 50 คน จาก 16 ประเทศทั่วโลก

ต่อมาเวลา 18.30 น. เสด็จไปในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ (Congress Dinner) แก่วิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุมในงานประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ และภริยา พร้อมผู้บริหารจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงจากคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ชุด “แผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมี“ และ ชุด ”สีสันวัฒนธรรมไทย” ซึ่งเป็นการแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีเอกลักษณ์อันงดงามและทรงคุณค่า สร้างความประทับใจและปลาบปลื้มใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน ที่ได้รับพระราชทานพระกรุณาในครั้งนี้

โดยตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ของการจัดประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Princess Chulabhorn International Science Congress – PC) ได้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งในและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้บรรลุเป้าประสงค์ของการจัดงานในแต่ละครั้ง ดังการจัดประชุม ฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการประสานความร่วมมือกันระหว่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของไทยและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากนานาประเทศ ในการคิดค้นหาแนวทางเพื่อสร้างมิติใหม่ของงานวิจัยด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของมวลมนุษยชาติต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
17 ธันวาคม 2567

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด