องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
(The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress)
ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 12.49 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “Protecting Animal and Human Lives from Rabies Project: One Health Approach for Rabies Control and Elimination in Thailand (โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ : แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อควบคุมและขจัดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย)” พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress)
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
สำหรับประเด็นสำคัญที่ทรงบรรยายในวันนี้
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแสวงหาแนวทางความร่วมมือแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) เกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ในปัจจุบันยังคงเป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วไม่รักษาอย่างทันท่วงทีมักจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ทั้งนี้ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงห่วงใยในปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงโปรดให้ดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ ทั้งด้านสุขภาพสัตว์ สุขภาพคน ครอบคลุมการเฝ้าระวัง
การป้องกัน และการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงมาตรการทางกฎหมาย ตลอดจนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ของสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยและทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573
ทั้งนี้ ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ได้มีการดำเนินมาตรการที่เข้มข้นขึ้น อาทิ การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ การทำหมันสุนัขและแมว การจัดการประชากรสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นระบบ การปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังโรค และการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ผลในเบื้องต้นแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการฯ โดยสามารถสร้างเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในบางพื้นที่ของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลอดโรคเพิ่มขึ้นในระดับประเทศ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานแบบบูรณาการ ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ในการแก้ไขปัญหาโรคที่แพร่จากสัตว์มาสู่คน และสามารถเป็นต้นแบบในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่ประเทศต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอนาคตที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress) ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 และเป็นการประชุมนานาชาติที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข และสัตวแพทย์ ได้เข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษยชาติต่อไป ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำแนวความคิดดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้อย่างบูรณาการระหว่างสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการแพทย์ การสัตวแพทย์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลก รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ไทยได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ และความร่วมมือ รวมถึงการเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าซึ่งกันและกันผ่านผลงานวิจัยและวิชาการใหม่ ๆ ที่ทันสมัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและต่อยอดองค์ความรู้ นำไปสู่การสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ทุกชีวิตในอนาคต ดังพระปณิธานอันแน่วแน่ขององค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในการนำความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
17 ธันวาคม 2567