ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9

19 ธ.ค. 2567
2

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เสด็จไปทรงปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
(The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress)

วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 15.55 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ ที่ได้มุ่งเน้นถึงบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมีกับการแก้ปัญหาความท้าทายของ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ตามแนวคิดหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ ที่ได้รวมแนวทางปฏิบัติทั้งด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม เพื่อให้ทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง

ในการนี้ ได้พระราชทานเหรียญทองเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (The Princess Chulabhorn Gold Medal Award of Appreciation) แก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ครั้งนี้ จำนวน 6 ราย ได้แก่

1. ดร.นอร์เบิร์ท แฟรงค์ (Norbert Frank) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

เป็นนักวิชาการผู้ทำคุณประโยชน์และให้ความร่วมมือแก่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ในการจัดการเรียนการสอนในโครงการฝึกอบรมระดับนานาชาติและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ระดับปริญญาโท – เอก อีกทั้งเป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับ ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งเยอรมันนี (The German Cancer Research Center -DKFZ) ในการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

2. ดร.เคอร์ติส แฮร์รีส (Curtis C. Harris) จากสหรัฐอเมริกา

เป็นนักวิจัยหลักที่ริเริ่มความร่วมมือ สนับสนุนและดำเนินโครงการวิจัยมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย
(Thailand’s Initiative in Genomics and Expression Research for Liver Cancer : TIGER-LC)  ซึ่งเป็นโครงการในพระดำริฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย รวมทั้งได้ช่วยพัฒนานักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในการศึกษาวิจัยโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง

3. ศาสตราจารย์ ลีโอนาร์ด ริตเตอร์ (Professor Leonard Ritter) จากประเทศแคนาดา

เป็นนักวิชาการผู้ทำคุณประโยชน์และให้ความร่วมมือแก่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ในการจัดการเรียนการสอนของโครงการฝึกอบรมระดับนานาชาติและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึง หลักสูตรบัณฑิตศึกษาของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ระดับปริญญาโท-เอก

4. ศาสตราจารย์ มาร์ติน แวน เดน เบิร์ก (Professor Martin van den Berg) จากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

เป็นนักวิชาการผู้ให้การสนับสนุน และความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนให้แก่โครงการฝึกอบรมระดับนานาชาติและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ตลอดจนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ระดับปริญญาโท-เอก มาจนถึงปัจจุบัน

5. ดร.ซิน เว่ย แวง (Dr.Xin Wei Wang) จากสหรัฐอเมริกา

เป็นหนึ่งในนักวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ที่รับผิดชอบการดำเนินงานในโครงการวิจัยมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย (Thailand’s Initiative in Genomics and Expression Research for Liver Cancer หรือ TIGER-LC) ตั้งแต่ปี 2552 อีกทั้งได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของสถาบันฯ ในการศึกษาวิจัยโรคมะเร็ง
อย่างต่อเนื่อง

6. ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ จากประเทศไทย

เป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงการศึกษา และการพัฒนาเยาวชนไทย รวมถึงการส่งเสริมด้านสุขภาพแก่สาธารณะ สำหรับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ท่านได้ทำคุณประโยชน์และให้การสนับสนุนดูแลด้านพิธีการทุกครั้งในการจัดประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ นับตั้งแต่ ปี 2530 เป็นต้นมา

รางวัลเหรียญทองเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (The Princess Chulabhorn Gold Medal Award of Appreciation) เป็นรางวัลที่องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พระราชทานพระอนุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หรือเป็นผู้ที่ทุ่มเทเวลาและความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาเป็นเวลานาน ช่วยให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์บรรลุเป้าหมายในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงาน ทั้งในด้านงานวิจัยและวิชาการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
มาอย่างยาวนานและต่อเนื่องเป็นอย่างดีเสมอมา ส่งผลให้สถาบันฯ สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ลุล่วงมาด้วยดี จนบังเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

จากนั้น องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีพระดำรัสปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ความตอนหนึ่งว่า

“…การประชุมครั้งนี้ได้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความราบรื่น โดยมีการนำเสนอผลงานที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งการอภิปรายในแต่ละหัวข้อการบรรยาย แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ การนำเสนอผลงานวิจัยและการประชุมย่อยต่าง ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า การประชุมครั้งนี้ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และผลงานวิจัย โดยผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ…”

การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Princess Chulabhorn International Science Congress) เป็นหนึ่งในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 4-5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ซึ่งเนื้อหาสำคัญของการจัดประชุมจะเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมสอดคล้องกับความก้าวหน้าล่าสุดทางวิทยาการของโลก ดังการจัดประชุมฯ ในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ด้วยพระนโยบายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสวงหา และก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความก้าวหน้าของงานวิจัยตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ระหว่าง
นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ สัตวแพทย์ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลก เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยหนึ่งเดียวที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
18 ธันวาคม 2567

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด