ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 22 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมแคนทารี่โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ ดร.ฐากูร พานิช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ”
จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน อันเป็นรากฐานสําคัญของการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ภายในงาน มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในระดับชุมชน เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูผู้ฝึกสอนด้านสุขศึกษา และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่เข้าร่วมอบรมฯ กว่า 180 คน ด้วยวิธีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผู้เข้ารับฝึกอบรมได้มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ การฝึกใช้เทคโนโลยีเคลื่อนที่ในการจัดการเรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านแอปพลิเคชัน EDURA การสาธิตวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นพร้อมแนวทางการปฏิบัติหลังจากถูกสุนัขกัด รวมถึง การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ผ่านกิจกรรมเกมตอบคำถาม เพื่อมุ่งเน้นในการ กระตุ้นให้ผู้เข้ารับการอบรมตื่นตัวในการเรียนรู้โดยผสมผสานความสนุกสนานจากการแข่งขันเกมไปพร้อม ๆ กัน
ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา มีข้อมูลประชากรสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 570,000 ตัว ในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวไปแล้วจำนวน 4,532 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วกว่า 568,062 ตัว อีกทั้งได้รับการรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ระดับอำเภอ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อำเภอพิมาย และอำเภอบัวลาย
อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในชุมชนที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
26 มีนาคม 2568