งานวิจัยพื้นฐานด้านการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชสมุนไพรไทย

พืชเป็นแหล่งผลิตสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีโครงสร้างทางเคมีที่ซับซ้อน และมีความหลากหลาย สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้ประโยขน์ในทางการแพทย์ และพบว่ายังมีสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังถูกนำมาศึกษาและวิจัย เพื่อต่อยอดและพัฒนาไปเป็นยารักษาโรคหรือลดอาการข้างเคียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรค

      รวมทั้งยังพบว่ามีพืชสมุนไพรชนิดใหม่ ๆ เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย   ห้องปฏิบัติการ ฯ จึงให้ความสนใจที่จะศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชสมุนไพร โดยมุ่งเน้นการศึกษาอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การเก็บรวบรวมตัวอย่าง การสกัดแยกด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟี การพิสูจน์เอกลักษณ์สาร และการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสาร เพื่อนำไปสู่การค้นพบสารชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนหรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการค้นพบยาชนิดใหม่

งานวิจัยที่ทางห้องปฏิบัติการ ฯ ได้ดำเนินการอยู่มีดังนี้

      การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของเฟิร์น และไลโคไฟต์ที่มีคุณสมบัติทางยาต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อ โดยเน้นศึกษาสารในกลุ่มไลโคโปเดียม อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ และไตรเทอร์พีนอยด์ การคัดเลือกชนิดของพืชที่จะนำมาศึกษาจะเลือกแบบทั้งที่ไม่มีรายงานการศึกษามาก่อน และชนิดที่มีรายงานสรรพคุณในการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง โรคความจำเสื่อม โรคกระดูก โรคภูมิแพ้ เป็นต้น

      พืชตระกูลเปราะ (Kaempferia) จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับพืชสกุลขิง ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายของพืชตระกูลนี้มากเป็นอันดับต้นของโลก โดยในประเทศไทยมีการค้นพบมากกว่า 30 ชนิด พืชตระกูลเปราะส่วนใหญ่ผลิตสารหลักเป็นสารกลุ่มไดเทอร์พีนอยด์ และที่ผ่านมามีการค้นพบโครงสร้างใหม่ที่หลากหลายและมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นประโยชน์ในการรักษา รวมทั้งจากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพเบื้องต้นพบว่า เหง้าของเปราะหลายชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่สูงมาก และบางชนิดยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาและพัฒนาสารกลุ่มไดเทอพีนอยด์จากพืชตระกูลเปราะเพื่อใช้ในงานวิจัยด้านยาและมุ่งหวังที่จะพัฒนาไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่

      การศึกษาพืชสกุล Barleria จัดอยู่ในวงศ์ Acanthaceae   พืชในสกุลนี้มีประมาณ 300 สายพันธุ์ ซึ่งล้วนมีฤทธิ์ทางยาที่น่าสนใจ  ตัวอย่างพืชที่มีความสนใจที่จะดำเนินการศึกษา เช่น เสลดพังพอนตัวผู้ (B. lupulina) มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน เท้าฤาษี (B. longflora) แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย รักษาแผลฝี สังกรณี (B. strigosa) น้ำ ดับพิษไข้ ถอนพิษไข้กาฬ แก้ร้อนใน แก้ไอ ระงับพิษ (B. siamensis) แก้อาการแพ้ผื่นคัน องค์ประกอบทางเคมีของพืชสกุล Barleria ที่เคยมีการรายงานมาก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มอิรีดอย์ส ฟลาโวนอยด์ และกลุ่มกลูโคไซด์ เป็นต้น

      นอกจากนั้นทางห้องปฏิบัติการ ฯ ให้ความสนใจที่จะศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรรายชนิด โดยคัดเลือกพืชที่จะศึกษาจากผลจากการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพเบื้องต้น หรือจากภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรของแพทย์พื้นบ้าน ตัวอย่างพืชที่ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้วได้แก่ การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีส่วนรากของต้นหลงไหล (Drypetes hoaensis) ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์  Euphorbiaceae พบสารกลุ่มไตรเทอร์พีนที่ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ (HepG2) ได้ดี พบสารกลุ่ม cardinane sesquiterpene ในต้นปรู๋  (Alangium salviifolium) และสารกลุ่ม prenylated acridone ในต้นมะนาวผี (Atalantia monophylla) ซึ่งสารทั้งสองกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อโรมาเทส โดยสามารถลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม   สารฟลาวานอยด์จำพวก trans-stillbene ในต้นเต้าสยาม (Macaranga siamensis)  พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งและต้านอนุมูลอิสระ   การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นดีปลากั้ง (Phlogacanthus pulcherrimus) วงศ์ Acanthaceae   พบสารพวก ent-abietane diterpenoid lactone glycoside, phenolic glycoside, lignan และ  iridoid glycoside จากส่วนเหนือดินของต้นดีปลากั้ง และพบว่าสาร  pulcherrimoside D มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ   และพบสารใหม่กลุ่ม acetogenin และ benzoquinone  จากต้นน้ำเต้าน้อย (Uvaria micrantha) และพบว่าสาร acetogenin บางตัวมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับได้ดี

แท็ก

แชร์