การรักษาโรคมะเร็งแนวทางใหม่
การรักษาด้วยแสง (photodynamic therapy, PDT) เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งและมีผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับวิธีการรักษาแบบอื่น ในปัจจุบันได้มีการนำ PDT มาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด โดยสามารถใช้วิธีดังกล่าวเพียงอย่างเดียวหรือใช้ควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น หลักการพื้นฐานของ PDT คือการใช้สารไวแสง (photosensitizer) ฉีดเข้าไปในเนื้อเยื่อมะเร็ง จากนั้นฉายแสงที่มีความความยาวคลื่นจำเพาะต่อสารไวแสง เพื่อกระตุ้นให้สารไวแสงสร้าง singlet oxygen และอนุมูลอิสระอื่นๆเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเซลล์ปกติจะได้รับผลกระทบน้อยมาก สารไวแสงส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำจึงเป็นปัญหาสำคัญเพราะตัวยาอาจไม่ละลายเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย การพัฒนาระบบนำส่งยาสำหรับนำส่งสารไวแสง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การรักษาแบบ PDT ได้
ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีประสบความสำเร็จในการเตรียมอนุภาคนาโนไฮบริดพอลิเมอร์-ลิพิด- โพลีเอทิลีนไกลคอล สำหรับนำส่งสารไวแสง pTHPP ที่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การรักษาโรคมะเร็งปอดดื้อยาหลายขนานโดยวิธี PDT อนุภาคนาโนที่เตรียมได้ช่วยเพิ่มการละลายของสารไวแสงและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธี PDT ในระดับห้องปฏิบัติการ การนำส่งสารไวแสงด้วยอนุภาคนาโนทำให้สารไวแสงเข้าไปสะสมในเซลล์มะเร็งปอดดื้อยาหลายขนาน (multidrug resistant lung cancer cells) มากขึ้นโดยไม่กระทบต่อกลไกการดื้อยาของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ยังทำให้เกิด singlet oxygen และอนุมูลอิสระที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งได้มากขึ้นเมื่อกระตุ้นด้วยแสง ซึ่งจะนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็งในที่สุด
การรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (cancer immunotherapy) เป็นงานวิจัยอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ เซลล์มะเร็งบางชนิดสามารถสร้างโปรตีนในปริมาณที่สูงบนผิวเซลล์และจับกับเช็คพอยต์โปรตีนบนเซลล์ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น แมคโครฟาจ (macrophage) และเซลล์ทีคิลเลอร์ (cytotoxic T cells) เพื่อยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีได้ทำการศึกษาการยับยั้งการทำงานของโปรตีน CD47 โดยใช้แอนติบอดีที่จับกับ CD47 รหัส B6H12 ในระบบการเลี้ยงเซลล์ร่วมกันระหว่างเซลล์มะเร็งเต้านมเพาะเลี้ยงและแมคโครฟาจ การใส่แอนติบอดีที่จับกับ CD47 ทำให้แมคโครฟาจสามารถถูกกระตุ้นและฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดก้าวร้าวแบบทริปเปิ้ลเนกาทีฟ (MDA-MB-231) ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น นักวิจัยของห้องปฏิบัติการฯ ได้ทำการศึกษาการยับยั้งการทำงานของโปรตีนพีดีแอลวัน (PD-L1) โดยใช้แอนติบอดีที่จับกับ PD-L1 ในระบบการเลี้ยงเซลล์ร่วมกันระหว่างเซลล์มะเร็งเต้านมเพาะเลี้ยงและเซลล์ทีคิลเลอร์ การใส่แอนติบอดีที่จับกับ PD-L1 ทำให้เซลล์ทีคิลเลอร์สามารถถูกกระตุ้นและฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดก้าวร้าวได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ห้องปฏิบัติการฯ มีแผนงานวิจัยที่จะตรวจสอบผลกระทบของการใส่แอนติบอดีที่จับกับเช็คพอยต์โปรตีนดังกล่าวจากเซลล์ มะเร็งและเซลล์ภูมิคุ้มกันจากเลือดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อที่จะเป็นแนวทางเลือกสำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล (personalized medicine)