การศึกษากลไกการเกิดโรคมะเร็งและพยาธิชีววิทยาในคนไข้โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีชาวไทยอย่างเป็นระบบ

จุดประสงค์หลักของการวิจัยคือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสาเหตุอื่นๆ ของมะเร็งตับและท่อน้ำดี เพื่อสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลแบบองค์รวมของผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีชาวไทย รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งทั้งสองชนิด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นำข้อมูลและองค์ความรู้ไปใช้กับผู้ป่วยต่อไป ที่อาจนำไปสู่ทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงค้นหากลยุทธ์ในการพัฒนายา นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่สามารถนำมาใช้กับงานทางคลินิก ซึ่งอาจนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง  การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้น การจำแนกชนิดย่อยของมะเร็ง การทำนายการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง และการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในอนาคต

นักวิจัยของสถาบันฯ ได้ทำการวิเคราะห์ลักษณะของมะเร็งตับในระดับชีวโมเลกุล โดยการนำชิ้นเนื้อมะเร็งและส่วนที่ไม่เป็นมะเร็งของผู้ป่วยจำนวน 200 ราย ไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกของกลไกระดับโมเลกุลภายในเซลล์มะเร็ง จากการวิเคราะห์พบว่า มะเร็งชนิดเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของผู้ป่วยไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้อีกตามลักษณะความแตกต่างในระดับชีวโมเลกุล ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ค้นพบกลุ่มย่อยที่มีลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยไทยและคนเอเชียชาติอื่น ๆ แต่ไม่พบในคนยุโรป แสดงให้เห็นว่ามะเร็งตับของแต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจตอบสนองต่อการรักษาต่างกันไปด้วย (Chaisaingmongkol et al., 2017)

งานวิจัยต่อยอดมุ่งเน้นไปที่การศึกษาสารเมตาบอไลท์ของผู้ป่วยมะเร็งชนิดเซลล์ตับชาวไทย นักวิจัยของสถาบันฯ ค้นพบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ สารเมตาบอไลท์ในเนื้อเยื่อและสารเมตาบอไลท์ซีรั่มสามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มย่อยได้ เช่นเดียวกับผลวิจัยก่อนหน้า ซึ่งสารเมตาบอไลท์ในซีรั่มเหล่านี้อาจนำมาประยุกต์ใช้เป็นตัวบ่งชี้มะเร็งแบบไม่รุกราน (non-invasive biomarkers) เพื่อช่วยการพยากรณ์โรคมะเร็งชนิดเซลล์ตับได้ (Pomyen et al., 2021)

The TIGER-LC Consortium Cancer Cell. 2017

คลังชีววัตถุและงานวิจัยภายใต้โครงการ TIGER-LC ถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าต่อการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ทั้งทางด้านพันธุศาสตร์ ระบาดวิทยา การวิจัยเชิงชีวโมเลกุลและการศึกษาวิจัยทางคลินิก นักวิจัยของสถาบันฯ มุ่งมั่นที่จะศึกษาและทำความเข้าใจชีววิทยาของมะเร็งตับอย่างถ่องแท้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสาเหตุต่าง ๆ ของมะเร็งตับและท่อน้ำดี และมุ่งค้นหาตัวบ่งชี้มะเร็งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานด้านคลินิก ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคมะเร็งในแนวใหม่เพื่อให้ได้ผลดีขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งนี้มีโอกาสบรรเทาจากโรคร้าย มีชีวิตที่ยืนยาว และสามารถใช้ชีวิตตามปกติสุข

เอกสารอ้างอิง

Chaisaingmongkol, J., Budhu, A., Dang, H., Rabibhadana, S., Pupacdi, B., Kwon, S. M., . . . Consortium, T.-L. (2017). Common Molecular Subtypes Among Asian Hepatocellular Carcinoma and Cholangiocarcinoma. Cancer Cell, 32(1), 57-70 e53. doi:10.1016/j.ccell.2017.05.009

Pomyen, Y., Budhu, A., Chaisaingmongkol, J., Forgues, M., Dang, H., Ruchirawat, M., . . . Consortium, T.-L. (2021). Tumor metabolism and associated serum metabolites define prognostic subtypes of Asian hepatocellular carcinoma. Sci Rep, 11(1), 12097. doi:10.1038/s41598-021-91560-1

แท็ก

แชร์