ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) – ข้อมูลวิชาการที่น่ารู้
ดร.นุชนาถ รังคดิลก, นันทนิจ ผลพนา และรศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI), สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI)
และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) เป็นสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข มีข้อบ่งใช้ คือ แก้ไข้ เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ โดยใช้เป็นแคปซูล/ยาเม็ด/ยาเม็ดลูกกลอน ที่บรรจุผงฟ้าทะลายโจรอบแห้งปริมาณต่างๆกัน ปัจจุบันมีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำหน่ายในท้องตลาดทั้งที่ผลิตจากโรงงานผลิตยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข และในลักษณะผลิตภัณฑ์จากชุมชน (OTOP) เพื่อใช้ในบรรเทาอาการหวัดเจ็บคอ รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารอย่างแพร่หลายจากรายงานผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า สารสกัดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านไวรัส HIV1 ไข้หวัด (common cold)2 ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน4 ลดความดันเลือด5,6 ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด7 ป้องกันความเป็นพิษของตับ8 ลดไข้และต้านการอักเสบ9,10 และฆ่าเชื้อมาลาเรีย11 เป็นต้น
ได้มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วย 158 คน ที่ประเทศชิลี เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการอันเนื่องจากหวัด (common cold) พบว่า ในวันที่ 4 ของการให้ยา สารสกัดใบฟ้าทะลายโจรขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดอาการรุนแรงของโรคอันเนื่องจากหวัด เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดหัว น้ำมูกไหล ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก2 จากการศึกษาโดยนักวิจัยในประเทศไทย (Thamlikitkul et al., 1991) ในผู้ป่วยที่มีอาการ pharyngotonsilitis 152 คน ที่ได้รับยาพาราเซตามอล หรือฟ้าทะลายโจรขนาด 3 กรัมต่อวัน หรือฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน พบว่า ในเวลา 3 วันแรก กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาดสูง 6 กรัมต่อวัน มีผลช่วยลดอาการไข้และอาการเจ็บคอได้ 80-90% แต่เมื่อถึงวันที่ 7 ไม่พบความแตกต่างในทั้ง 3 กลุ่ม9 แต่อย่างไรก็ตาม สารสำคัญที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจรจะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทราบปริมาณสารสำคัญที่จะนำไปใช้ เพื่อให้การใช้ป้องกันและรักษาโรคแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสมกับสารสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆซึ่งจะทำให้การนำไปใช้มีประสิทธิภาพดี กล่าวคือ ป้องกันและรักษาโรคได้ มีอาการข้างเคียงน้อย และราคาถูกปัจจุบันมีการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อใช้ผลิตเป็นยาใช้ในโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้เริ่มทำการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ในโครงการทับทิมสยาม 05 ที่อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว โดยเป็นโครงการนำร่องเพื่อสอนให้ชาวบ้านมีทักษะในการปลูกสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ และรับซื้อผลผลิตจากชุมชนดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการของสถาบันฯ เพื่อหามูลค่าเพิ่มของสมุนไพรนี้ต่อไป
ชื่อวิทยาศาสตร์: Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (วงศ์ Acanthaceae)
ชื่ออื่น: ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน
ลักษณะพืช:
ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 30-60 ซม. ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 4-10 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ก้านใบยาว 2-8 มม. ดอกออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่งและซอกใบ ช่อโปร่งยาว 5-30 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกสีขาวแกมม่วง มีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ผลเป็นฝัก รูปทรงกระบอก สีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกดีดเมล็ดออกมา มีเมล็ด 8-14 เมล็ด ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดง ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ เนื่องจากเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีเปลือกหุ้มหนาและแข็ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการงอก นอกจากนี้เมล็ดยังมีการพักตัว จึงควรแก้การพักตัวของเมล็ดก่อนนำไปเพาะหรือก่อนการปลูก12
แหล่งกระจายพันธุ์: ฟ้าทะลายโจรมีเขตการกระจายพันธุ์ และเขตการเพาะปลูกได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น
การเพาะปลูก: เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ฤดูที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน ชอบดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ทั้งในสภาพที่ร่มและกลางแจ้ง ถ้าปลูกในพื้นที่กลางแจ้งจะมีลำต้นเตี้ยและใบหนา ส่วนในที่ร่มลำต้นจะสูงใบใหญ่แต่บาง พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไรและมีน้ำอุดมสมบูรณ์
ส่วนที่ใช้ประโยชน์: ส่วนเหนือดิน (ทั้งต้น)
สารสำคัญ
สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone เช่น สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide) ดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide) และดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide) เป็นต้น ซึ่งมีสูตรโครงสร้างทางเคมี ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 สูตรโครงสร้างของสารสำคัญที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
งานวิจัยสมุนไพรฟ้าทะลายโจรของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
1. การศึกษาด้านพฤกษเคมี
ในระยะแรกการศึกษาทางเคมีของฟ้าทะลายโจร คือ ทำการวิเคราะห์หาปริมาณแลคโตนรวม ซึ่งทำได้โดย นำผงสมุนไพรบดละเอียดมาทำการสกัดด้วยเอธานอล (reflux) จากนั้นนำสารละลายไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีต่างๆหลายขั้นตอน และขั้นสุดท้ายไตเตรทกับสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ตามข้อกำหนดของ Thai Herbal Pharmacopoeia I จะกำหนดให้วัตถุดิบส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร มีปริมาณ Total lactone ไม่น้อยกว่า 6% โดยคำนวณเป็น andrographolide
ต่อมาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณของสารสำคัญชนิดต่างๆในฟ้าทะลายโจร โดยการใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งตอนเริ่มต้นสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรได้ 3 ชนิด ได้แก่ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide-AP1), ดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide-AP3) และนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide-AP4) โดยใช้เมทธานอลเป็นตัวทำละลาย ซึ่งวิธีวิเคราะห์นี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Phytochemical Analysis ในปี 2004 โดย Pholphana et al.13 ซึ่งการวิธีวิเคราะห์นี้เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดนี้ได้จากการฉีดสารตัวอย่างสมุนไพรครั้งเดียว และได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรวิธีการเตรียมสารสกัดและวิธีการวิเคราะห์แล้ว (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 1862 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548)14 แต่ปัญหาอีกอย่างของการวิเคราะห์สมุนไพรก็คือ การขาดแคลนสารมาตรฐานที่จะใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งมีราคาแพง และบางชนิดไม่มีจำหน่าย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำการสกัดและแยกสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้จากฟ้าทะลายโจรขึ้นเอง โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ และคณะนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี ทำให้ได้สารที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 95% และสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด ได้ถูกนำมาใช้เป็นสารมาตรฐานในการควบคุณภาพตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและสารสกัดฟ้าทะลายโจรก่อนนำไปทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อไป แต่ต่อมาทางสถาบันฯสามารถที่จะแยกสารบริสุทธิ์จากฟ้าทะลายโจรได้อีก 1 ชนิด คือ สารดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide-AP6) ซึ่งเป็นสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งในฟ้าทะลายโจร และได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากเดิมเพื่อให้สามารถแยกสารสำคัญทั้ง 4 ชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น รูปแบบสารสำคัญในตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ดังแสดงในรูปที่ 2 วิธีการตรวจวิเคราะห์นี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ปี 2013 ในวารสาร Chinese Medicine15
รูปที่ 2 รูปแบบสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอาศัยการตรวจวัด โดยใช้เทคนิค HPLC
2. การศึกษาด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยา
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ โดยสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่นำมาทดสอบนั้น จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในสารสกัดก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ที่แน่นอน สารสกัดที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสารสกัดน้ำที่ทำเป็นผงแห้งแล้ว โดยใช้เครื่องทำให้เป็นผงแห้งโดยใช้ความร้อน (Spray Dryer)
2.1 ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
สถาบันฯได้ทำการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจรด้วยวิธี DPPH assay พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ในระดับปานกลาง โดยมีค่า SC50 (ค่าที่กำจัดอนุมูลอิสระได้ 50%) เท่ากับ 75-78 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
2.2 ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
ทำการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphyloccus aureus ATCC 25923 ของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจร โดยใช้วิธี Broth Macrodilution Method ผลการทดลอง พบว่า ค่า MIC (Minimum Inhibition Concentration-ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้) เท่ากับ 32 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
2.3 ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง
ศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum (94) ในหลอดทดลองของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจร ผลการทดลอง พบว่า มีค่า IC50 (Inhibition Concentration–ค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ 50%) เท่ากับ 418.25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งตามเกณฑ์ของห้องปฏิบัติการฯ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ และสารบริสุทธิ์ AP1 (Andrographolide) และ AP3 (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide) ให้ผลดีกว่า AP4(Neoandrographolide)
2.4 ฤทธิ์ในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
ในการศึกษาวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบฤทธิ์ของสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด ที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจรและสารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย Thrombin ในหลอดทดลอง ผลการทดลองพบว่า 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีกว่า andrographolide (AP1) ในขณะที่ neoandrographolide (AP4) ไม่มีผล นอกจากนี้สารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ European Journal of Pharmacology ในปี 2549 โดย Thisoda et al.7
2.5 ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
เนื่องจากมีรายงานว่า สาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) มีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดี ดังนั้นทางสถาบันฯจึงได้ทำการศึกษาว่าสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะมีฤทธิ์ต่อหลอดเลือดและหัวใจในสัตว์ทดลองแตกต่างกันหรือไม่ จากผลการทดลอง พบว่า 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดและลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3 สูงจะมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดีกว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มี AP3ต่ำกว่า จากผลการทดลองนี้บ่งชี้เตือนได้ว่า ผู้บริโภคที่ได้รับฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญ AP3 สูง อาจทำให้เกิดอาการของความดันเลือดต่ำได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจรด้วย ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Planta Medica ในปี 2550 โดย Yoopan et al.6
2.6 ฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง
สถาบันฯได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็งสมอง SK-N-SH ของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ได้แก่ AP1, AP3 และ AP4 ในหลอดทดลอง ซึ่งผลการทดลองพบว่า สารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้ มีฤทธิ์ในการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งสมองได้ โดยมีฤทธิ์เรียงจากมากไปน้อย คือ AP1, AP3AP4 จากนั้นได้ทำการศึกษากลไกระดับโมเลกุลของสารทั้ง 3 ชนิดนี้ในการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง พบว่า สารนี้ไปยับยั้งวงจรชีวิตของเซลล์ที่ระยะ G1/S phase และกระตุ้นให้เซลล์ตายด้วยขบวนการอะพรอพโธสีส (Apoptosis) ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในงานประชุม The 5th Princess Chulabhorn International Science Congress: Evolving Genetics and Its Global Impact ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 16-20 สิงหาคม 2547 (Thiantanawat et al.)16
ส่วนการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของผงฟ้าทะลายโจรในหนูขาว 2 เพศ17 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้ยาในขนาด 0.12, 1.2 และ 2.4 กรัมต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1, 10 และ 20 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน – 6 กรัมต่อวัน) พบว่า หนูทุกกลุ่มมีการเจริญเติบโตปกติ ไม่พบความผิดปกติทางโลหิตวิทยาหรือชีวเคมีของเลือด รวมทั้งลักษณะภายนอกหรือน้ำหนักของอวัยวะภายใน จุลพยาธิสภาพของอวัยวะภายในบางอวัยวะ ผลการทดลองสรุปได้ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้รักษาในคนนั้น มีความปลอดภัยสูง
การควบคุมคุณภาพสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและผลิตภัณฑ์
การออกฤทธิ์ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาลที่เพาะปลูก แหล่งที่ปลูก และระยะเวลาเก็บเกี่ยว ตลอดจนระยะเวลาการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของความแปรปรวนของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร ทำให้ฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้นั้น รักษาโรคได้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้ สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ดีในทุกๆครั้งที่นำมาใช้ มีประสิทธิภาพในการรักษาสม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญแต่ละชนิดในวัตถุดิบที่จะนำมาใช้เตรียมผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทุกครั้ง
สถาบันฯได้ทำการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่จำหน่ายในท้องตลาดมาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด พบว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้มีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดในผลิตภัณฑ์มาก (รูปที่ 3) แต่ทุกผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจะมีสาร andrographolide (AP1) สูงที่สุด รองลงมา คือ 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) ในขณะที่มีสาร neoandrographolide (AP4) ต่ำที่สุด และใบก็จะมีสารสำคัญสูงกว่าในก้าน จากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรบางตัวอย่าง จะมีปริมาณสาร AP3 สูงมาก เช่น ตัวอย่างที่ 01, 08, 13 และ 15 เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการลดไข้ แก้เจ็บคอ ก็อาจจะมีผลข้างเคียง คือ มีความดันเลือดต่ำลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนได้
รูปที่ 3 ความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีขายในท้องตลาด
นอกจากนี้ทางสถาบันฯยังได้ทำการศึกษาความคงตัวของสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดนี้ในผงสมุนไพรที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง13 พบว่า สาร andrographolide (AP1) ค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เก็บรักษา ในขณะที่สาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เก็บรักษา และสาร neoandrographolide (AP4) เปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ ซึ่งถ้าดูจากผลของการเปลี่ยนแปลงสารแลคโตนรวม จะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารแลคโตนรวมน้อยมาก จึงไม่สามารถบอกได้ว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ใช้อยู่นี้ จะยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3สูงขึ้น ก็อาจจะรักษาโรคที่สาร AP3 มีฤทธิ์ที่ดีที่สุด เช่น ช่วยลดความดันเลือด เป็นต้น แต่ถ้าต้องการใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับลดไข้ แก้เจ็บคอเท่านั้น การนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไว้นานแล้วมาใช้ ก็อาจทำให้ได้รับสาร AP3 สูงตามไปด้วย ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงเกี่ยวกับการลดลงของความดันเลือดที่ไม่พึงประสงค์ได้
จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรทั้ง 4 ชนิดนี้ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกัน และยังมีการเปลี่ยนแปลงของสารระหว่างการเก็บรักษาเกิดขึ้นได้ด้วย ดังนั้นวิธีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสมุนไพรนี้ จึงจำเป็นจะต้องเป็นวิธีที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณสารทั้ง 4 ชนิดได้ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยสูง
ข้อบ่งใช้ในปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบันในบัญชียาจากสมุนไพร ปี 2549 ได้แบ่งยาจากสมุนไพรเป็น 2 ชนิด ได้แก่ บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม เช่น ยาหอมนวโกฐ ยาประสะมะแว้ง ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง เป็นต้น ส่วนชนิดที่ 2 คือ บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร บัวบก พริก ไพล เป็นต้น ในบัญชียาจากสมุนไพรนี้ได้ระบุข้อบ่งใช้ของฟ้าทะลายโจรว่า ใช้รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ รักษาอาการเจ็บคอ (pharyngotonsillitis) บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล เป็นต้น
รูปแบบและความแรง แคปซูล /ยาเม็ด/ ยาลูกกลอน ที่บรรจุผงฟ้าทะลายโจรอบแห้ง 250, 300 และ 350 มก.
ขนาดและวิธีใช้: (รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ) ครั้งละ 0.5-2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ใช้รักษาไม่เกิน 2 วัน, (รักษาอาการเจ็บคอ) วันละ 3 – 6 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ใช้รักษาไม่เกิน 7 วัน
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น การเลี้ยงไก่ เป็นต้น เนื่องจากการเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้มีการตกค้างของสารเหล่านี้ในเนื้อไก่ได้ และอาจจะทำให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ตลอดจนการส่งออกเนื้อไก่ของประเทศไทย ดังนั้นจึงได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ โดยได้มีการนำฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสรรพคุณแก้เจ็บคอ ลดไข้ แก้ท้องเสีย ไปผสมร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ไพล ให้ไก่กิน เพื่อป้องกันและรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอัตราการสูญเสียจากไก่ป่วยและตายลดลง สาโรชและคณะ (2547)18 ได้รายงานว่า ไก่เนื้อที่เลี้ยงด้วยอาหารเสริมฟ้าทะลายโจรขนาด 0.05-0.1% ของอาหาร จนถึงอายุ 6 สัปดาห์ ไก่จะมีน้ำหนักตัวเทียบได้กับกลุ่มเสริมยาปฏิชีวนะ แต่จะมีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า และในไก่ไข่ ไก่ที่ได้รับฟ้าทะลายโจรผง 0.05-0.1% ของอาหาร ก็มีแนวโน้มผลิตไข่ดกกว่าและไข่มีคุณภาพภายในดีกว่ากลุ่มควบคุม จะเห็นได้ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้ผลที่ดีในสัตว์เช่นเดียวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ จึงน่าที่จะนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะได้ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมและปัญหาการตกค้างของยาในเนื้อสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากสมุนไพรที่ใช้มีความเป็นพิษต่ำ ราคาถูก และหาได้ง่ายเพราะสามารถปลูกได้เองในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามควรจะมีการศึกษาถึงสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรที่อาจตกค้างในเนื้อสัตว์และอาจมีผลต่อผู้บริโภคได้ และยังต้องศึกษาถึงการยอมรับของผู้บริโภคในแง่ของกลิ่นและรสชาติของเนื้อสัตว์ที่อาจจะแตกต่างออกไปด้วย
บทสรุป
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสารสำคัญแต่ละชนิดที่มีอยู่ในสมุนไพร ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั้งในรูปแบบของผงแห้งบรรจุแคปซูล ลูกกลอน ยาเม็ด รวมไปถึงการเตรียมให้อยู่ในรูปสารสกัดฟ้าทะลายโจร เนื่องจากมีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีฤทธิ์ไม่เท่ากันเมื่อใช้ในขนาดของยาที่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเหล่านี้อย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการนี้จะต้องสามารถหารูปแบบของสารสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้แน่นอนเพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้อีก จะยังให้ฤทธิ์ในการรักษาในทุกๆครั้งเหมือนเช่นเดิม และไม่มีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรนี้
เอกสารอ้างอิง
Calabrese, C., Berman, S.H., Babish, J.G., Ma, X., Shinto, L., Dorr, M., Wells, K., Wenner, C.A., Standish, L.J. A phase I trial of andrographolide in HIV positive patients and normal volunteers. Phytother. Res. 2000, 14, 333-338.
- Cáceres, D.D., Hancke, J.L., Burgos, R.A., Sandberg, F., Wikman, G.K. Use of visual analogue scale measurements (VAS) to asses the effectiveness of standardized Andrographis paniculata extract SHA-10 in reducing the symptoms of common cold. A randomized double blind-placebo study. Phytomedicine. 1999, 6, 217-223.
- Zaidan, M.R., Noor, A., Badrul, A.R., Adlin, A., Norazah, A., Zakiah, I. In vitro screening of five local medicinal plants for antibacterial activity using disc diffusion method. Trop. Biomed. 2005, 22, 165-170.
- Puri, A., Saxena, R., Saxena, R.P., Saxena, K.C., Srivastava, V., Tandon, J.S. Immunostimulant agents from Andrographis paniculata. J. Nat. Prod. 1993, 56, 995–999.
- Zhang, C.Y., Tan, B.K.H. Hypotensive activity of aqueous extract of Andrographis paniculata in rats. Clin. Exp. Pharmacol. Physiol. 1996, 23, 675–678.
- Yoopan, N., Thisoda, P., Rangkadilok, N.,Sahasitiwat, S., Pholphana, N., Ruchirawat, S., Satayavivad, J. Cardiovascular effects of 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide and Andrographis paniculata extracts. Planta Med. 2007, 73, 503-511.
- Thisoda, P., Rangkadilok, N., Pholphana, N., Worasuttayangkurn, L., Ruchirawat, S., Satayavivad, J. Inhibitory effect of Andrographis paniculata extract and its active diterpenoids on platelet aggregation. Eur. J. Pharmacol. 2006. 553, 39-45.
- Kapil, A., Koul, I.B., Banerjee, S.K., Gupta, B.D. Antihepatotoxic effects of major diterpenoid constituents of Andrographis paniculata. Biochem. Pharmacol. 1993, 46, 182-185
- Thamlikitkul, V., Dechatiwongse, T., Theerapong, S., Chantrakul, C., Boonroj, P., Punkrut, W., Ekpalakorn, W., Boontaeng, N., Taechaiya, S., Petcharoen. S., et al. Efficacy of Andrographis paniculata. Nees for pharyngotonsillitis in adults. J. Med. Assoc. Thai. 1991, 74, 437-442.
- Sheeja, K., Shihab, P.K., Kuttan, G. Antioxidant and anti-inflammatory activities of the plant Andrographis paniculata Nees. Immunopharmacol. Immunotoxicol. 2006, 28, 129-140.
- Misra, P., Pal, N.L., Guru, P.Y., Katiyar, J.C., Srivastava, V., Tandon, J.S. Antimalarial activity of Andrographis paniculata (Kalmegh) against Plasmodium berghei NK 65 in Mastomys natatensis. Int. J. Pharmacog. 1992, 30, 263–274.
- Thai Herbal Pharmacopoeia. 1995. Vol. 1. Prachachon Co., Ltd., Bangkok. p. 24-31.
- Pholphana, N., Rangkadilok, N., Thongnest, S., Ruchirawat, S., Ruchirawat, M., Satayavivad, J. Determination and variation of three active diterpenoids in Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees. Phytochem. Anal. 2004, 15, 365-371.
- อนุสิทธิบัตร เลขที่ 1862 เรื่อง วิธีการเตรียมสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees, Acanthaceae และใช้สารสกัดดังกล่าวในการผลิตผลิตภัณฑ์ ออกให้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548
- Pholphana, N., Rangkadilok, N., Saehun, J., Ritruechai, S., Satayavivad, J. Changes in the contents of four active diterpenoids at different growth stages in Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (Chuanxinlian). Chin. Med. 2013, 8(1), 2.
- Thiantanawat, A., Watcharasit, P., Ruchirawat, S., Satayavivad, J. Modulation of cell cycle and apoptosis signaling by the three active diterpenoids from Andrographis paniculata Nees. Proceedings of The 5th Princess Chulabhorn International Science Congress: Evolving Genetics and Its Global Impact, August 16-20, 2004, PC-09, Vol. II, p.57.
- นาถฤดี สิทธิสมวงศ์, เจษฎา เพ็งชะตา, ทรงพล ชีวพัฒน์ และคณะ. พิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้องรังของฟ้าทะลายโจร. ไทยเภสัชสาร. 2532, 14, 109-118.
- สาโรช ค้าเจริญ, บังอร ศรีพานิชกุลชัย, เยาวมาลย์ ค้าเจริญ, คมกริช พิมพ์ภักดี, พิชญ์รัตน์ แสนไชยสุริยา. การศึกษาและพัฒนาการผลิตและการใช้สมุนไพรกระเทียม ฟ้าทะลายโจร และขมิ้นชันทดแทนสารต้านจุลชีพและสารสังเคราะห์เติมอาหารไก่และสุกร. การประชุม เรื่อง สมุนไพรไทย โอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ ครั้งที่ 2 วันที่ 15-16 มกราคม 2547. หน้า 145-161.
กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คณะผู้วิจัยขอขอบคุณ ศ.ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ และคณะนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี ที่เอื้อเฟื้อสารบริสุทธิ์ที่แยกจากฟ้าทะลายโจร สำหรับใช้เป็นสารมาตรฐานในการวิเคราะห์ และนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยาที่ร่วมงานทุกท่าน สำหรับตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้ทดสอบในงานวิจัยของสถาบันฯ ได้มาจากหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 (จังหวัดสระแก้ว) และบางส่วนได้รับความอนุเคราะห์จากคุณลิขิตและคุณวรรณี สูจิฆระ (สวนสมุนไพร จังหวัดราชบุรี) ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ที่มา https://eht.sc.mahidol.ac.th/article/1818