เมล็ดลิ้นจี่ เซี่ยงจี๊ น้ำซาวข้าว…ปลอดภัยต่อไตจริงหรือ?

29 มี.ค. 2556
0

ดร. นุชนาถ รังคดิลก และ รศ.ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

ผู้เขียนได้บังเอิญอ่านเจอข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (ฉบับวันพฤหัสที่ 28 มี.ค. 2556 หน้า 10) ที่ได้เตือนผู้บริโภคหรือผู้ป่วยโรคไตเกี่ยวกับสูตรยาสมุนไพรรักษาโรคไตที่ว่ากันว่าถูกส่งต่อมาจากประเทศไต้หวันเมื่อราว 7 ปีก่อน ซึ่งสูตรสมุนไพรที่ถูกกล่าวถึงนี้เป็นการนำเอาเมล็ดลิ้นจี่สดมาทุบบดต้มรวมกับไตหมู (เซี่ยงจี๊) และน้ำซาวข้าว ให้ผู้ป่วยโรคไตดื่มจะทำให้มีอาการดีขึ้น ในข่าวระบุว่าผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ อายุรวัฒน์นานาชาติได้กล่าวเตือนถึงการนำสูตรสมุนไพรนี้มาใช้กับผู้ป่วยโรคไตว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากในเมล็ดลิ้นจี่ ไตหมู และน้ำซาวข้าว มีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะทำให้ไตยิ่งทำงานหนักมากขึ้นในการขับออก หากผู้ป่วยรับประทานเข้าไปมากๆ ก็จะเกิดอาการบวมน้ำได้ ดังนั้นสูตรยาสมุนไพรนี้ จึงมีผลในทางตรงกันข้าม แทนที่จะช่วยบรรเทาอาการ อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไตมากยิ่งขึ้น

เมื่อดูสูตรสมุนไพรรักษาโรคไตนี้แล้ว ทำให้เกิดความเป็นห่วงใยต่อผู้ป่วยโรคไตเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลงานวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารต่างประเทศเมื่อต้นปีนี้ เรื่อง Evaluation of Trace Elements in Selected Foods and Dietary Intake by Young Children in Thailand (ในวารสาร Food Additives & Contaminants: Part B, 2013, Vol. 6, p. 55-67) ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุจำเป็นและธาตุที่เป็นอันตรายต่างๆในตัวอย่างอาหารหลายๆชนิด ทั้งเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักและผลไม้ ข้าว รวมทั้งน้ำดื่มและอาหารสำหรับเด็กเล็ก

พบว่า ในตัวอย่างตับหมูและไตหมูมีปริมาณของธาตุที่เป็นอันตราย เช่น สารหนู (Arsenic) และแคดเมียม (Cadmium) สะสมในปริมาณที่สูงกว่าในส่วนของเนื้อหมู (ตารางที่ 1) โดยตับหมูมีปริมาณสารหนูเฉลี่ย 0.13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และมีปริมาณแคดเมียมเฉลี่ย 0.49 ส่วนไตหมูมีปริมาณสารหนูเฉลี่ย 0.08มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่มีปริมาณแคดเมียมเฉลี่ยสูงถึง 2.50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหมูที่มีปริมาณสารหนูเฉลี่ย 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และมีปริมาณแคดเมียมเฉลี่ยเพียง 0.013 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เท่านั้น จากปริมาณของแคดเมียมที่ตรวจพบในไตหมูจะเห็นได้ว่า มีตัวอย่างไตหมูที่มีปริมาณแคดเมียมสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในไตหมู ที่กำหนดโดยประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ คือ 2.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเมื่อใช้ค่ามาตรฐานที่กำหนดใน Commission Regulation (EC) No. 1881/2006 ซึ่งกำหนดค่าแคดเมียมสูงสุดที่ให้มีได้ในไตหมู คือ 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ก็จะพบว่า ปริมาณเฉลี่ยของแคดเมียมในตัวอย่างไตหมูที่ตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดนี้มากกว่า 2 เท่า ดังนั้นการบริโภคไตหมูเป็นประจำ อาจจะทำให้เราได้รับปริมาณของแคดเมียมจากไตหมูนี้เข้าสู่ร่างกายและไปสะสมที่ไตได้

ตารางที่ 1 ปริมาณสารหนูและแคดเมียม (มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักสด) ในตัวอย่างเนื้อหมู, ตับหมู, ไตหมู และข้าวขาวขัดสี

ตัวอย่างสารหนู
(มก./กก. น้ำหนักสด)
แคดเมียม
(มก./กก. น้ำหนักสด)
เนื้อหมู (33 ตัวอย่าง)0.05±0.01
(<0.002-0.19)
0.013±0.003
(<0.002-0.076)
ตับหมู (33 ตัวอย่าง)0.13±0.05
(<0.002-1.09)
0.49±0.16
(0.028-3.68)
ไตหมู (35 ตัวอย่าง)0.08±0.01
(0.006-0.41)
2.50±0.40
(0.39-10.82)
ข้าวขาวขัดสี (55 ตัวอย่าง)0.13±0.005
(0.053-0.30)
0.01±0.001
(<0.004-0.032)

– ค่าสูงสุดของแคดเมียมที่ยอมให้มีได้ในไตวัวควาย, แกะ และหมู (Kidney of cattle, sheep, pig) ที่กำหนดโดยประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ คือ 2.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (Australia New Zealand Food Standards Code – Standard 1.4.1 – Contaminants and Natural Toxicants)

– Commission Regulation (EC) No. 1881/2006 of 19 December 2006 กำหนดค่าแคดเมียมสูงสุดที่ให้มีได้ในไตหมู คือ 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ดูดซึมและเก็บสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และยังกรองของเสียและสิ่งแปลกปลอมต่างๆออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารเข้าไปจะมีกระบวนการย่อยอาหารและทำให้เกิดของเสียซึ่งร่างกายจะขับออกมา ของเสียหรือสารที่เป็นพิษจะต้องถูกขับออก แต่ถ้าได้รับสารพิษสะสมไว้เป็นเวลานานก็จะเป็นอันตรายทำให้ไตวายได้ ซึ่งแคดเมียมนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารแล้วลำเลียงไปตามกระแสเลือดพร้อมกับเม็ดเลือดแดงและไปจับกับโปรตีนที่มีชื่อว่า Metallothionein ที่ตับสร้างขึ้นและส่งต่อไปยังไตเพื่อขับออกจากร่างกาย แคดเมียมจะถูกสะสมที่ตับและไต จึงทำให้เกิดอาการเป็นพิษที่ไตได้ นอกจากนี้แคดเมียมยังมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 30-40 ปี นั่นแสดงว่า จะต้องใช้เวลายาวนานถึง 30-40 ปี ถึงจะขับแคดเมียมครึ่งหนึ่งที่ได้รับออกจากร่างกายได้ (http://www.vetcouncil.or.th/download/Q11/307540030.pdf) ดังนั้นการได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ จะทำให้มีแคดเมียมสะสมที่ไตในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้แทนที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตมีอาการที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ เรายังตรวจพบว่า ในตัวอย่างข้าวขัดสี (ข้าวขาว) ที่สุ่มมาตรวจ มีปริมาณสารหนูเฉลี่ย 0.13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และมีปริมาณแคดเมียมเฉลี่ย 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในปริมาณที่น้อย และจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า แม้ว่าน้ำซาวข้าวจะมีการปนเปื้อนของธาตุที่เป็นพิษเหล่านี้ออกมาในปริมาณที่น้อยอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าข้าวที่นำมาใช้เป็นข้าวที่มีปริมาณของสารหนูหรือแคดเมียมสะสมในปริมาณสูง ก็อาจจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณของธาตุเหล่านี้เข้าไปสะสมในร่างกายได้เมื่อบริโภคเป็นประจำ ส่วนเมล็ดลิ้นจี่นั้น ข้อมูลจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รายงานว่า ในลิ้นจี่มีปริมาณของธาตุโพแตสเซียม 123-180 มิลลิกรัม/100 กรัมผล แตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ลิ้นจี่ (Thai Food Composition Tables 1999) โพแทสเซียมจะถูกขับออกทางไต ภาวะไตเสื่อมจะทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียมในร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยไตวายมักจะมีการคั่งของโพแทสเซียม ซึ่งถ้าระดับโพแทสเซียมสูงมากอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูงด้วย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยโรคไตก็สามารถตัดสินใจได้ว่า สูตรสมุนไพรรักษาโรคไตนี้ จะช่วยรักษาบรรเทาอาการของตนเองให้ดีขึ้นได้หรือไม่ หรือสมุนไพรนี้จะทำให้อาการโรคไตที่ตนเองเป็นอยู่ยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณการสะสมของสารพิษในร่างกายมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ไตของเราทำหน้าที่ในการกำจัดสารพิษเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการนำสมุนไพรรักษาโรคมาใช้ ควรจะเลือกใช้สมุนไพรที่มีการศึกษาความปลอดภัยแล้วหรือเป็นการใช้แบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้กันมานาน ไม่ใช่เพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อ โดยไม่มีการยืนยันการใช้ได้ผลที่แน่นอน เพราะถ้าโชคดี ก็อาจจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าแจ็กพอต…โชคร้าย….ก็จะทำให้อาการทรุดหนักได้เช่นกัน

ที่มา https://eht.sc.mahidol.ac.th/article/646

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด