การประชุมวิชาการ
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้จัดการประชุมวิชาการทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติขึ้น โดยมุ่งให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ส่งเสริมให้มีการนำผลการวิจัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ มีโอกาสพบปะและสานสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เพื่อแสวงหาความร่วมมือกันต่อไป
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
(Princess Chulabhorn International Science Congress)
การประชุมนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุก 3-5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เพื่อถวายเป็นราชสักการะในมหามงคลสมัยต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเนื้อหาจะเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลกและมีความสำคัญเร่งด่วนสำหรับประเทศ เพื่อสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งยังสามารถเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของนักวิจัยและนักวิชาการชาวไทยและต่างชาติ ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความร่วมมือ รวมถึงการเผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่ ๆ
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดมาแล้ว 8 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีวิทยากรจากสถาบันชั้นนำทั่วโลก รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมแต่ละครั้ง มากกว่า 800 คน ดังนี้
ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2530
เรื่อง “ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Products)”
ระหว่างวันที่ 10-13 ธันวาคม พ.ศ. 2530
ได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 2 ท่าน คือ Professor Herbert C. Brown และ Professor Kenichi Fukui มาบรรยายพิเศษ และมีวิทยากรจำนวน 123 คน มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 42 ประเทศ
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2535
เรื่อง “สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: ความท้าทายของศตวรรษที่ 21 (Environment, Science and Technology: The Challenges of the 21st Century)”
ระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2535
บรรยายพิเศษโดย Dr. Mostafa K. Tolba, Executive Director, United Nations Environment Programme และมีวิทยากรจำนวน 87 คน มีผู้เข้าร่วมประชุม 719 คน จาก 33 ประเทศ
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2538
เรื่อง “น้ำและการพัฒนา: น้ำคือชีวิต (Water and Development: Water is Life)”
ระหว่างวันที่ 11-15 ธันวาคม 2538
โดยมีปาฐกถานำโดย Dr.Nay Htun, UN Assistant Secretary General, UNDP Assistant Administrator and Regional, Director for Asia and Pacific Bureau และมีวิทยากรจำนวน 74 คน มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 19 ประเทศ
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2542
เรื่อง “สารเคมีในศตวรรษที่ 21 (Chemicals in the 21st Century)”
ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2542
โดยมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล คือ Professor F. Sherwood Rowland ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ และมีวิทยากรจำนวน 70 คน มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 911 คน จาก 38 ประเทศ
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2547
เรื่อง “วิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก (Evolving Genetics and Its Global Impact)”
ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2547
โดยมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล คือ Professor Harold E. Varmus ให้เกียรติมาปาฐกถานำ และมีวิทยากรจำนวน 75 คน มี ผู้เข้าร่วมประชุมรวม 732 คน จาก 33 ประเทศ
ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2550
เรื่อง “ความสัมพันธ์ของเคมีและชีววิทยา ในยุค‘โอมิกส์’: สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการพัฒนายาใหม่ (The Interface of Chemistry and Biology in the ‘Omics” Era: Environment & Health and Drug Discovery)”
ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2550
โดยมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 2 ท่าน คือ Dr. Richard J. Robert และ Dr. Richard R. Schrock ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ และมีวิทยากรจำนวน 118 คน มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 881 คน จาก 40 ประเทศ
ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555
เรื่อง “มะเร็ง: จากการวิจัยพื้นฐานสู่การรักษา (Cancer: From Basic Research to Cure)”
ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2555
โดยมีนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล Professor J. Michael Bishop ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ และมีวิทยากรจำนวน 85 คน มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 719 คน จาก 32 ประเทศ
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2559
เรื่อง “อนามัยสิ่งแวดล้อม : ความเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งแวดล้อม สารเคมี และเชื้อที่ก่อโรค (Environmental Health: Inter-linkages among the Environment, Chemicals and Infectious Agents)”
ระหว่างวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2559
โดยมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล Prof. Aaron Ciechanover ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ และมีวิทยากรจำนวน 75 คน มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 717 คนจาก 29 ประเทศ
ขณะนี้ สถาบันฯ อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อด้านเคมี เพื่อถวายเป็นราชสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กำหนดจะจัดการประชุมประมาณปี พ.ศ. 2566